รองศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ คุณรณฤทธิ์ พัฒนาพงษ์สถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสไอพี เทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการผลิตแบบ SMT ทั้งทางด้านเครื่องจักร และระบบเครือข่ายการจัดการข้อมูลการผลิตให้ทันสมัย และเหมาะสมต่อการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากร เพื่อให้เป็นวิศวกรและช่างเทคนิคที่มีทักษะเฉพาะทางขั้นสูง ด้าน SMT Line
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ได้มีการส่งเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อประกอบกันเป็นสายพานการผลิตแบบ SMT (SMT Line) สำหรับใช้ในการประกอบแผงวงจรไฟฟ้า (PCB Assembly, PCBA) เพื่อติดตั้ง ณ ห้องปฏิบัติการ MUT-SMT อาคาร MII มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
“มหานคร ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศ ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic circuit design) การออกแบบวงจรรวม (IC design) การออกแบบแผงวงจร (Printed Circuit Board (PCB) design) รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังจัดตั้งห้องปฏิบัติการ SMT Line เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบในการประกอบแผงวงจรไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี SMT (Surface Mount Technology) ซึ่งทำให้สามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กลงแต่มีความหนาแน่นในการประกอบสูง (High assembly density) ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำลงอย่างมาก”
รศ. ดร.ภานวีย์ฯ ยังได้กล่าวเสริมว่า “ห้องปฏิบัติการ SMT ที่ว่านี้ จะเป็นสถานที่ที่นักศึกษาวิศวะมหานครได้เข้ามาลงมือปฏิบัติจริง หลังจากเรียนภาคทฤษฎีมาอย่างเข้มข้นในห้องเรียน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อมในการออกไปสู่อุตสาหกรรมด้าน PCBA นอกจากนี้ เรายังได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมกว่า 20 หลักสูตร เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ส่งช่างเทคนิคของท่านมาฝึกอบรมกับเราเพื่อ upskill หรือยกระดับทักษะใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมี ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ที่มีกระบวนการทำงานแบบใหม่ได้ และอาจส่งคนมา reskill เพื่อเปลี่ยนทักษะและเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานเดิมก็ได้ ถ้ากล่าวโดยภาพรวมแล้ว ก็ถือเป็นการทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้และทักษะสูงทางด้านการประกอบแผงวงจรไฟฟ้าหรือ PCBA อย่างแท้จริง”
อธิการบดี รศ. ดร.ภานวีย์ ยังได้กล่าวสรุปว่า “ประโยชน์ยิ่งยวดจากการลงทุนเบื้องต้นกว่า 20 ล้านบาทในครั้งนี้ นอกจากมหานครจะได้ฝึกอบรม เพื่อ upskill/reskill ผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว นั่นคือ การที่นักศึกษาวิศวะของเราจะได้รับประสบการณ์จริง ได้ลงมือทำจริง จากการใช้ห้องปฏิบัติการ SMT นี้ เราจึงเชื่อมั่นว่า เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาจากมหานคร จะเป็นบุคลากรที่มีทักษะสูง และพร้อมรับมือกับสภาพการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล ก่อเกิดผลิตภาพสูงสุด ในงานที่ปฏิบัติอย่างยั่งยืนตลอดไป”
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
Accept All