อาชีวะ จับมือ เกรท วอลล์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง เป็นสื่อการเรียนการสอน เตรียมกำลังคนรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

     เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาทักษะผู้เรียนและผู้สอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนร่วมกันศึกษา ออกแบบ เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากการศึกษา วิจัย และมี Brian Power ที่จะต่อยอดพัฒนาต้นแบบยานยนต์สมัยใหม่ฝีมือคนไทย ตลอดจนมีการพัฒนาหลักสูตรสร้างยานยนต์แห่งอนาคตในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก จึงมีความสนใจที่จะสนองนโยบายสำคัญ และเร่งด่วนของประเทศ ด้วยการร่วมสร้างกำลังคนที่เป็นช่างเทคนิคทักษะสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ด้วยคำแนะนำที่มีคุณค่าของผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษา และแวดวงอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้มหาวิทยาลัยฯ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. จนได้ข้อสรุปว่า “มหานครน่าจะสามารถสร้างชุดฝึก EV ที่เป็นต้นแบบให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ 2 แห่ง และวิทยาลัยเกษตรอีก 1 แห่ง ทั้งนี้แนวคิดเรื่องนี้ฉายแววเป็นจริงได้ เมื่อมหานครได้เป็นพันธมิตรกับบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายรถยนต์ EV รายใหญ่ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการประสานหารือและเชื่อมโยงแนวความคิด แนวทางดำเนินงาน ในอันที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาหลักสูตร หรือรายวิชา ตลอดจนสร้างสื่อการสอนที่เป็นต้นแบบชุดฝึก EV สำหรับใช้สร้างทักษะที่จำเป็นให้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ระดับ ปวส. ของประเทศ

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง เกิดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ 2 ประการ คือ 

  1. เพื่อร่วมกันศึกษา ออกแบบ และสร้างต้นแบบอุปกรณ์ชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง จำนวน 2 ชุด เพื่อส่งมอบให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี พร้อมคู่มือการฝึก และ Lab sheet เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน และใช้ประเมินการฝึกทักษะที่จำเป็นของผู้เรียน  
  2. เพื่อร่วมกันศึกษา และดัดแปลงจักรกลการเกษตร ที่มีต้นกำลังเป็นมอเตอร์และแบตเตอรี่ จากชิ้นส่วนอะไหล่ของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งมอบให้ -วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ชีวภาพการเกษตรและอุตสาหกรรม การเกษตร พร้อมคู่มือกระบวนการประยุกต์ดัดแปลงยานยนต์การเกษตรตาม แนวคิดข้างต้น และคู่มือประเมินการฝึกทักษะที่จำเป็นของผู้เรียน

     สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม ให้รายละเอียดว่า ทาง สอศ. โดยตัวแทนของวิทยาลัย ทั้ง 3 แห่ง จะให้ข้อมูลระบุความต้องการ รับต้นแบบชุดฝึกไปทดลองใช้ และแจ้งผลการใช้ชุดฝึกแก่มหานคร เพื่อการปรับปรุงตัวต้นแบบ ตลอดจนคู่มือต่างๆ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะคอยสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูล ให้คำแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับสมบัติของชิ้นส่วน EV และการฝึกช่างมาตรฐานของบริษัท รวมถึงการระบุทักษะของกำลังคน ที่จะป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ให้การสนับสนุนชิ้นส่วนอุปกรณ์ตามความเหมาะสม และหรือจำหน่ายให้มหานครในราคาถูก

      ในส่วนของมหานคร เราก็จะรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัย ออกแบบสร้างต้นแบบอุปกรณ์ และดัดแปลงจักรกลการเกษตร พัฒนาหลักสูตร หรือรายวิชา ตามความประสงค์ของ สอศ. และภาคอุตสาหกรรมการผลิต EV ตลอดจนหาแหล่งทุน เพื่อสนับสนุนโครงการ นอกจากนี้ หลังสร้างต้นแบบเสร็จและส่งมอบวิทยาลัยทั้งสามแห่งแล้ว มหานครก็จะรอรับ Feedback เพื่อแก้ไขปรับปรุง โดยในหลายๆ กระบวนการดำเนินงานไตรภาคีนี้ จะมีการร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิด และมีการประเมินความสำเร็จระหว่างทางเป็นระยะ คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดทั้งสิ้น 3 ปี และท้ายที่สุด สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับคือ ต้นแบบยานยนต์ EV ฝีมือคนไทย ที่ภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตยานยนต์ EV ออกมาจำหน่ายต่อไป ในส่วนภาคการศึกษา โรงเรียน หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศเกือบ 400 แห่ง ที่มีการเปิดสอนสาขาเทคโนโลยียานยนต์ จะได้มีหลักสูตรหรือรายวิชา ตลอดจนสื่อการสอนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัย เพื่อผลิตช่างเทคนิคทักษะสูง สู่ตลาดงานต่อไป อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวทิ้งท้าย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Accept All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save