เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ประกาศนโยบายด้านความร่วมมือทางวิชาการกับนานาชาติ โดยมีหนึ่งในความร่วมมือ คือ โครงการวิจัยริเริ่มด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หวังร่วมมือทุกภาคส่วนขับดันสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดของประเทศไทย
“ปัจจุบันเรื่องเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีความเจริญด้านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะในอาณาบริเวณท้องฟ้าที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 100 กิโลเมตร หรือกว่า 328,000 ฟิตขึ้นไป ถือเป็นห้วงอวกาศแล้ว เราจึงมักได้ยินข่าวประเทศโน้น บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ ส่งยานอวกาศสารพัดชนิด หรือ ดาวเทียมสู่อวกาศเพื่อสำรวจจักรวาล ดวงดาว สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ภัยคุกคาม หรือเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม ที่จะยังประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของมวลมนุษยชาติ หรือประชาชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นต้น” อธิการบดีกล่าว และยังเสริมต่อว่า เมื่อ 25 ปีก่อน มหานคร เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศที่ริเริ่มและบุกเบิกการสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะเชี่ยวชาญขั้นสูงด้านการออกแบบสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อยิงขึ้นสู่อวกาศ ในวิถีวงโคจรต่ำแล้วได้ปฏิบัติภารกิจเชิงวิจัยสำเร็จ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของประเทศชาติ และได้นามพระราชทาน“ไทพัฒ”เป็นความปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น…“ผมจะเดินหน้าสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก และให้รอบรู้เทคโนโลยีอวกาศ เพราะองค์ความรู้แหล่านี้จะเป็นคำตอบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนบนโลก ในทุกมิติอย่างยั่งยืน” อธิการบดี กล่าวสรุป
ในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการกับนานาชาติ ประเดิมเริ่มปีการศึกษา 2566 ในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ รองศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี พร้อมคณะได้เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเยือนพันธมิตร 3 หน่วยงาน และเจรจา 3 เรื่องสำคัญ คือ การหารือเรื่องความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม และภาพถ่ายทางอากาศในประเทศไทยกับ บริษัท Super Map ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์อันดับ 1 ของจีน อันดับ 2 ของโลก โดยซอฟต์แวร์นี้ใช้งานง่าย มีฟังก์ชันรองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบภารกิจ จึงเหมาะแก่การนำมาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) การขนส่ง การจัดการที่ดิน การเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์น้ำ หรือการจัดการภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น และนี่คือข้อได้เปรียบสำหรับนักศึกษาของมหานครทุกคณะทุกสาขาวิชาที่จะได้เรียนรู้วิธีใช้ Software นี้ เพื่อการประยุกต์ใช้งานในสาขาวิชาของตนเองเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่พิเศษสุดอีกประการหนึ่ง เพื่อการออกไปทำงานในอนาคต
เรื่องสำคัญลำดับต่อมา คือ การหารือเพื่อวิจัยพัฒนาร่วมกันกับ บริษัท Galaxy Space ผู้ผลิตและผู้ให้บริการดาวเทียมสัญชาติจีน ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ เมื่อการวิจัยนี้สำเร็จจะมีผลที่ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ แต่ยังสามารถช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นการท่องเที่ยว หรือการทำการเกษตรจากระยะไกล การลดความแออัดของชุมชนเมือง เพราะผู้คนสามารถทำงานจากพื้นที่ห่างไกล แล้วยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอีกด้วย จึงเป็นการดีที่มหานครจะได้มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ อาจทำให้ประเทศไทยไม่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีอวกาศ แต่เป็นผู้สร้าง ผู้ส่งออกเทคโนโลยีนี้ก็เป็นได้
ส่วนเรื่องสำคัญสุดท้ายคือ การไปเยือน Prof. Wu แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง ผู้เชี่ยวชาญการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก มีผลงานสร้างมาแล้ว 5-6 ดวง โดย “มหานคร” และ ‘Prof. Wu’ มีความสนิทสนมผูกพันกันมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่ต่างฝ่ายต่างไปศึกษาและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ ในโอกาสนี้ Prof. Wu ได้มีพันธะสัญญา กับ มหานคร ถึงความร่วมมือในการสร้างดาวเทียมร่วมกัน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีดาวเทียม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย Prof. Wu ยินดีสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งช่วยเหลือและจัดการด้านการส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่ทีมจากมหานครจะสร้างที่จีนขึ้นสู่วงโคจร ทั้งนี้ มหานคร พร้อมทุ่มทุนไม่อั้น รวมถึงให้ทุนแก่เยาวชนคนเก่งจากทุกสถาบันการศึกษา ที่พร้อมเรียนรู้และสร้างดาวเทียมไปด้วยกัน และนี่จึงเป็นสัญญาณชี้ชัดว่า มหานครจะเป็นแหล่งรวมคณาจารย์และบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และก้าวทันเทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัย และสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเป็นกำลังคนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศที่สร้างมูลค่าสูงสุดของประเทศต่อไป
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
Accept All